วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2558

การเพาะเลี้ยงอึ่งเผ้าในบ่อซีเมนต์

การเพาะเลี้ยงอึ่งเผ้าในบ่อซีเมนต์
ช่วงนี้เริ่มเข้าสู่หน้าฝน มีสัตว์เศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่มาช่วงหน้าฝน และหากินได้แค่ฤดูฝนเท่านั้น นั้นก็คือ ..อึ่ง.. ซึ่งอึ่งชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมนำมารับประทาน และใกล้จะสูญพันธุ์คือ อึ่งเผ้าหรืออึ่งปากขวด ราคานั้นไม่เบาเลย สูงถึงกิโลกรัมละ 200-250 บาท เลยทีเดียว...
อึ่งเผ้า มีลักษณะเฉพาะตัวคือ มีความยาวจากหัวจรดถึงก้นประมาณ 73 มิลลิเมตร ลำตัวอ้วนป้อม มีลักษณะเด่นคือ หน้าสั้นมาก ปากแคบและทู่ไม่มีฟัน ไม่เหมือนกับกบหรืออึ่งอ่างชนิดอื่น ๆ ตาเล็ก ขาสั้น แผ่นเยื่อแก้วหูเห็นไม่ชัด ลำตัวสีน้ำตาลดำหรือสีเทาดำ ใต้ท้องสีขาว บางตัวอาจมีจุดกระสีเหลืองกระจายอยู่ทั่ว เท้าทั้ง 4 ข้างมีพังผืดเกาะติดอยู่ ใช้สำหรับว่ายน้ำ และมีสันใต้ฝ่าเท้าหลังใช้สำหรับขุดดิน
อึ่งเผ้า พบในภูมิภาคอินโดจีน ในประเทศไทยจะพบเฉพาะพื้นที่ที่อยู่เหนือจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ขึ้นไป โดยมีพฤติกรรมอาศัยโดยขุดโพรงดินที่เป็นดินปนทรายและอาศัยอยู่ภายใน ในป่าที่มีความชุ่มชื้นใกล้กับพื้นที่ชุ่มน้ำ ในฤดูร้อนจะซ่อนตัวในโพรงแทบตลอด เมื่อฝนตกจะออกมาหากิน โดยหากินในเวลากลางคืน
อึ่งเผ้าจะผสมพันธุ์และวางไข่ในช่วงต้นฤดูฝน โดยจะทำการผสมพันธุ์วางไข่เร็วกว่าอึ่งอ่างหรือกบชนิดอื่น ลูกอ๊อดมีลำตัวป้อมและโปร่งแสง ลำตัวเป็นสีเหลือง มีส่วนบนและส่วนล่างเป็นสีดำ จะหากินอยู่ในระดับกลางน้ำ โดยจะว่ายทำมุมประมาณ 45 องศาเซล เซียส อยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ไปไหนมาไหนพร้อมกันเป็นฝูง
ปัจจุบันมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มาก เพราะการถูกจับมาบริโภคและสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยเปลี่ยนไป
การเพาะเลี้ยงอึ่งเผ้าในบ่อซีเมนต์
ลักษณะบ่อเพาะเลี้ยง
1. บ่อซีเมนต์ ขนาด 2X4X1 เมตร ผนังเรียบ
2.พื้นบ่อเป็นทรายละเอียดหนา 50 เซนติเมตร อีกฝั่งหนึ่งทำเป็นบ่อน้ำขอบบ่อเสมอกับพื้นดินทราย
3. หลังคาคลุมด้วยสแลนท์พลางแสง 80 เปอร์เซ็นต์
4. ขอบบ่อด้านบน วางแผนสังกะสีให้ด้านหนึ่งของสังกะสีเลยเข้ามาในบ่อประมาณ 15 นิ้ว กันอึ่งหนีออกบ่อ
5. ติดตั้งสปริงเกอร์ และ หลอดไฟฟ้า ในบ่อ 1 จุด
การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์อึ่ง
พ่อพันธุ์แม่พันธุ์อึ่งนั้น สามารถรวบรวมได้จากธรรมชาติ บริเวณป่าเต็งรัง ป่าโปร่ง ช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนมิถุนายน (พบมากในช่วงฝนตกหนักครั้งแรกของฤดูฝน) เมื่อรวบรวมมาได้แล้วให้คัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ดังนี้
เพศผู้
- ลำตัวมีสีดำเข้มข้างตัวมีลายดำจุดขาว
- ลำตัวเล็ก และ ยาวกว่าเพศเมีย
เพศเมีย
- ลำตัวสั้น และ ใหญ่กว่าตัวผู้
- ข้างตัวมีลายจุดขาวอมเหลือง ผนังท้องบางมองเห็นไข่
- ตัวเมียที่มีไข่เต็มท้องโดยหงายดูที่ท้องจะเห็นไข่ลักษณะสีดำ
วิธีการเพาะพันธุ์อึ่งเผ้า
ใช้อัตราส่วนเพศผู้ : เพศเมีย (1:1) จำนวน 1 – 2 คู่ ต่ออ่าง ใส่น้ำครึ่งอ่าง เมื่อเห็นไข่ลอยเต็มอ่างภายใน 11 – 12 เซนติเมตร ให้แยกพ่อแม่พันธุ์ออกจากอ่าง ( แม่พันธุ์ 1 ตัวให้ไข่ 8,000 – 10,000 ฟอง) ไข่จะฟักออกเป็นตัวภายใน 24 ชั่วโมง
การให้อาหารอึ่งเผ้า
ใน 3 วันแรกลูกอ๊อดไม่กินอาหาร เมื่อลูกอ๊อดอายุ 4 วัน เริ่มให้ไข่แดงต้มสุกบดให้ละเอียดวันละ 1 ครั้งในตอนเช้า ประมาณ 1/4 ฟองต่ออ่าง
เมื่อลูกอ๊อดอายุ 7 วัน เริ่มให้อาหารปลาดุกเล็กโปรตีน 32 เปอร์เซ็นต์ 100 กรัมต่ออ่าง ให้วันละ 1 ครั้ง จนลูกอ๊อดอายุประมาณ 45 วัน หางลูกอ๊อดเริ่มหลุด หลังจากลูกอ๊อดหางหลุด อึ่งจะพัฒนาเหมือนตัวเต็มวัย และจะออกจากอ่างลงบนพื้นทรายในบ่อประมาณ 3 วัน อึ่งจะฝังตัวในทรายบนพื้นบ่อ
กรณีให้อาหารเสริม เช่น ปลวก และแมลง ให้เปิดสปริงเกอร์วันละ 1 ครั้ง และเปิดไฟล่อแมลงในบ่อตอนกลางคืน
วิธีการจับอึ่งจากการเพาะเลี้ยง
- โดยการนำแผ่นสังกะสีวางบนหลังคาที่คลุมด้วยสแลนต์ แล้วจึงใช้น้ำฉีดที่แผ่นสังกะสี (เป็นการเลียนแบบฝนตก) อึ่งเผ้าที่ฝังตัวอยู่ในทรายจะออกมา
- ปล่อยให้น้ำท่วมพื้นบ่อ อึ่งจะขึ้นมาบริเวณผิวน้ำสามารถคัดขนาดได้ตามต้องการ
ข้อมูลและรูปภาพ
http://farmfriend.blogspot.com/2015/05/blog-post.html

ทำตู้พักไข่ด้วยงบ 100 บาท

ทำตู้พักไข่ด้วยงบ 100 บาท ความรู้จาก. คุณเศษเหล็ก. ทางเรียบนครสุดเข็ต

1.ถังเปล่า 1 ใบเจาะใส่หลอดไฟขนาด 13. วัต และเจาะรูเพื่อระบายอากาศ
2. ถ้วยเล็ก 1. ใบ ใส่น้ำเปล่าเพื่อป้องกันไม่ให้ ไข่แห้งติดเปลือก

3.กลับไข่เช้าและเย็น เปิดไฟไว้ตลอด 24. ชั่วโมง.

ใช้ได้จริง หมดปัญหาเรื่องแม่ไก่ไม่ยอมฟักไขฯลฯ

ชีววิถี..เลี้ยงกุ้งก้ามแดง ทางเลือก..ต้นทุนสุดต่ำ

ยิ่งรก...ยิ่งรอด
เป็นคำจำกัดความสั้นๆง่ายๆของ นายประทีป มายิ้ม วิทยากรศูนย์การเรียนรู้ชีววิถีเพื่อการเรียนรู้อย่างยั่งยืน บ้านห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ที่กล่าวถึงวิธีการเลี้ยง “กุ้งก้ามแดง” หรือ “ล็อบสเตอร์น้ำจืด”
“ก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดที่จะเลี้ยงกุ้งพันธุ์นี้เลย แต่เพราะ 4 ปีก่อน ลูกสาวไปซื้อลูกกุ้งมา 4 ตัว ตัวละ 30 บาท ไม่รู้ว่ามันคือกุ้งอะไร คิดว่าเป็นกุ้งสวยงาม เลยเอามาปล่อยในอ่างเลี้ยงปลาหางนกยูง เลี้ยงแบบตามมีตามเกิด ไม่ได้ให้อาหารอะไรเลย แต่สังเกตเห็นสาหร่ายหางกระรอกในอ่างเลี้ยงปลาค่อยๆ ลดลง แสดงว่ามันกินเป็นอาหารได้”

ลูกกุ้ง


3 เดือนผ่านไป กุ้งเริ่มโตเท่าหัวแม่มือ จึงย้ายลงบ่อปูนที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาหน่อย...เลี้ยงไปอีกไม่กี่เดือน คราวนี้กุ้งออกลูกลอยเป็นแพเต็มบ่อ เมื่อให้มันกินสาหร่ายเป็นอาหารได้ ประทีป เลยทดลองเอาแหนมาใส่เป็นอาหาร กุ้งตัวเล็กตัวน้อยก็เติบโตได้ ใครที่มาดูงานศูนย์การเรียนรู้ฯ เห็นแล้วชอบใจ ขอซื้อลูกกุ้งไปเลี้ยง...จากจุดนี้ ขายแค่ลูกกุ้งรายได้ไม่เลว ปีหนึ่งให้ลูก 3-4 ครั้ง

แหนอาหารเลี้ยงกุ้งก้ามแดง


จากเริ่มต้นด้วยลูกกุ้งแค่ 4 ตัว เลี้ยงเล่นๆ สนุกแค่ปีเดียว ลูกกุ้งมีมากมาย เลยแบ่งส่วนหนึ่ง 500 ตัวลงแปลงนาสาธิตของศูนย์เรียนรู้ฯ พื้นที่ขนาด กว้าง 3 เมตร ยาว 5 เมตร ขังน้ำลึกประมาณ 1 ฝ่ามือ ปลูกข้าวเต็มรกไปหมด กั้นตาข่ายโดยรอบ เพื่อป้องกันนก หนู สัตว์แปลกปลอมเล็ดลอดเข้าไปจับกุ้ง

มุ้งตาข่ายป้องกันสัตว์อื่นๆให้กุ้ง


“เอาลูกกุ้งมาปล่อยในนาสาธิต ปล่อยไปอย่างนั้นไม่ได้คิดอะไร แค่อยากทดลองอะไรเล่นสนุกๆ ถึงได้รู้กุ้งพันธุ์นี้จะอยู่รอดได้มากแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าเราทำที่หลบซ่อนให้มันได้ดีแค่ไหน เพราะศัตรูของมันไม่ได้มีแค่พวกสัตว์อื่นๆ ที่เราต้องมุ้งตาข่ายป้องกันเท่านั้น มันยังกินกันเองอีกด้วย โดยเฉพาะในช่วงที่มีการลอกคราบ กุ้งตัวไหนลอกคราบ ไม่มีที่ให้หลบซ่อนมักจะเจอตัวอื่นมารุมจับกินเป็นอาหาร”
ด้วยเหตุนี้ ประทีป ถึงได้สรุปวิธีการเลี้ยงกุ้งก้ามแดง “ยิ่งรก ยิ่งรอด” นอกจากจะรกด้วยการปลูกข้าวและต้นไม้น้ำสารพัดชนิดแล้ว ยังเอาท่อประปา (ท่อพีวีซี) ตัดเป็นท่อนยาวประมาณ 1 คืบ มาทำเป็นที่หลบซ่อนให้กุ้งด้วย...ส่วนเรื่องอาหารเลี้ยง ไม่เคยควักเงินซื้อ ใช้แต่แหนอย่างเดียว

นายประทีป มายิ้ม


เลี้ยงปล่อยไว้อย่างนั้น คอยเติมแหนกับดูแลเติมน้ำไม่ให้แห้ง...1 ปีครึ่งผ่านไป ได้กุ้งขนาด 2 ตัว 1 กก. เชฟโรงแรมแชงกรี-ลาที่พัทยารู้ข่าว เลยมาติดต่อขอซื้อ ให้ราคา กก.ละ 1,200 บาท เอา 200 กก.คูณเข้าไป รวมเป็นเงิน 2 แสนกว่าบาท... มาปีนี้พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง ทำ
สัญญาจองซื้อขายล่วงหน้าเป็นปีไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ค่าอาหารไม่มี แค่ซื้อลูกกุ้งไม่กี่ตัวมาเพาะเอง เป็นอีกทางเลือกของการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงที่เสี่ยงน้อย ต้นทุนต่ำ...อยากจะรู้ลึกมากกว่านี้ 21 มิ.ย.นี้ สมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย จัดสัมมนา “กุ้งก้ามแดง...สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่” ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน สอบถามรายละเอียดได้ที่ 0-2940-5425, 08-6340-1713.
ชาติชาย ศิริพัฒน์